บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE ฐานทุนแกร่งหลังขายโรงไฟฟ้าโอนิโกเบ มูลค่า 3,357 ล้านบาท ชำระคืนหนี้ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลง ซีอีโอหญิงแกร่ง “ดร.แคทลีน มาลีนนท์” ประกาศลั่น ปี 67 พร้อมลุยธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะชุมชน และธุรกิจ Wellness หวังสร้าง New S-Curve เพื่อการเติบโตยั่งยืน
ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ในปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ ได้เดินหน้าตามแผนธุรกิจที่วางไว้ ตามเป้าหมายการเพิ่มรายได้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ทั้งรายได้จากธุรกิจเดิม และรายได้จากธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ในอนาคต โดยมีความพร้อมด้านเงินลงทุนที่มาจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น “โอนิโกเบ” มูลค่า 3,357 ล้านบาท และหากต้องการเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น มั่นใจว่าพันธมิตรทางธุรกิจและสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ณ สิ้นปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1.83 เท่า จากเดิมที่เท่ากับ 2.18 เท่า ณ สิ้นปี 2565
โดยในปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ เตรียมเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ตั้งเป้าหมายว่าจะได้งานประมูลราว 100 – 150 เมกะวัตต์ หลังจากปี 2566 ที่บริษัทฯ ชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์เสนอขาย และเดินหน้ารุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนผืนน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร และมีแผนจะทำ M&A (Mergers and Acquisitions) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกำลังการผลิต และมีแผนจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งเป็นสายธุรกิจ Health Care กับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำธุรกิจ Wellness ซึ่งจัดอยู่ในเมกะเทรนด์และมีแนวโน้มการเติบโตสูง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนในสังคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานและมีบุตรช้าลง ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็จะมีอายุมากขึ้นแล้วทำให้สมรรถภาพการมีบุตรลดลงมีบุตรยากขึ้น เพื่อสร้าง New S-Curve และเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ โดยเริ่มตั้งแต่การให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (IVF) ตลอดจนการรักษา การเสริมความงาม และการป้องกันเพื่อสุขภาพที่ดีและยืนยาว โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าในกลางปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมและรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าทั้งสิ้น 1,898 ล้านบาท และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดกว่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้การจ่ายเงินปันผลสำหรับการดำเนินงานงวดปี 2566 อยู่ที่อัตราหุ้นละ 0.14 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงถึง 8% ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท ดังนั้นจึงมีเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) เป็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นี้