“ซีเอ็มโอ” (CMO) ส่งซิกครึ่งปีหลังภาพรวมตลาดอีเวนต์คึกคัก พร้อมโชว์มีงานรอรับรู้รายได้มูลค่า 755 ล้านบาท พร้อมเปิดกลยุทธ์ครีเอทงาน Own-Project สร้างรายได้เพิ่ม แถมลุ้นประมูลงานเพิ่มอีกหลายโครงงาน มั่นใจรายได้สิ้นปีเข้าเป้า 1.2 – 1.5 พันล้านบาท “ด้านผู้บริหาร” แจง Q1/67 ยังขาดทุน ระบุเป็นค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว เร่งปรับโครงสร้างทำงานรัดกุม ย้ำนักลงทุนเชื่อมั่นศักยภาพการดำเนินงาน ลุ้นปีนี้เทิร์นอะราวด์
นายมงคล ศีลธรรมพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ผู้ดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์บริหารจัดการงานอีเวนต์ นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ งานประชุมสัมมนา คอนเสิร์ต และเฟสติวัล เปิดเผยถึง ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 (มกราคม-มีนาคม 2567) ว่ากลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 263.89 ล้านบาท ลดลง 51.34 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้ 315.22 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 49.23 ล้านบาท ลดลง 31.29 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทฯ มีขาดทุนสุทธิ 80.52 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ ถือเป็นอัตราการเติบโตที่เป็นไปตามสภาพตลาดของธุรกิจอีเวนต์ ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับรายได้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จะเห็นว่าลดลง เนื่องจากปีก่อนมีการรับรู้รายได้จากงานในกลุ่มบริษัทย่อยที่ลงทุนในธุรกิจด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ประเภทจัดงานคอนเสิร์ต ซึ่งถือเป็นส่วนที่ทำให้บริษัทฯ ขาดทุน
“อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจริงๆ แล้ว ยอดขาดทุนสุทธิในไตรมาสแรกของปีนี้ มาจากบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (One-Time Expenses) เป็นจำนวน 26.63 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ดำเนินการเรื่องคดีความหรือข้อพิพาททางกฎหมายของบริษัทฯ และบริษัทย่อย, ค่าทนายความ ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ทั้งนี้ หากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวนี้ บริษัทฯ จะมีผลขาดทุนสุทธิ 22.22 ล้านบาท ถือว่าลดลงอย่างมากจากงวดเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังไปในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติของบริษัทฯ แล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับงานประเภทพิพิธภัณฑ์ที่เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งมีต้นทุนในการดำเนินงานแล้ว แต่อยู่ระหว่างทยอยรับรู้รายได้ภายในไตรมาสถัดไป ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การปรับโครงสร้างการบริหารงานในส่วนต่างๆ ทำให้ปีนี้มีแนวโน้มเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของ CMO” นายมงคล กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ซีเอ็มโอ กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 และครึ่งปีหลัง มีสัญญาณการเติบโตดีต่อเนื่องจากภาวะตลาดที่ยังมีการเติบโต โดยภาพรวมตลาดอีเวนต์ มูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท การเติบโตมาจากภาคเอกชนเป็นหลัก และอีกส่วนมาจากภาครัฐที่มีนโยบายผลักดัน “Soft Power” ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญทุ่มงบประมาณสำหรับงานอีเวนต์มากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณการจัดงานที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานอีเวนต์การตลาด การจัดประชุมนานาชาติ ตลอดจนงานในกลุ่ม Entertainment
ในส่วนของ CMO โครงสร้างรายได้หลักมาจากการจัดงานอีเวนต์ และธุรกิจซัพพลายอุปกรณ์ระบบภาพแสงเสียง ซึ่งบริษัทฯ มีกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์, กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางและความงาม, กลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีผลงานที่น่าสนใจ อาทิเช่น จัดงานเปิดคอลเลคชั่นใหม่ของแบรนด์ GENTLEWOMAN, งาน Lancôme Idole House เปิดตัวน้ำหอมใหม่, Miss Dior Parfum Pop up, งานสถาปนิกสยาม 67, งาน Makro “ตลาดนัดโชห่วย”, งานเทศกาลดนตรี Major Movie on the Beach ครั้งที่ 9, งานเปิดแฟลกชิปสโตร์ “POP MART Hello Central Ladprao”, งานพาวิลเลี่ยนของธนาคารกรุงเทพ ในงาน Money Expo, นิทรรศการชุดใหม่ Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon ของศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ตลอดจนไปบริหารจัดการพาวิลเลี่ยนของ ปตท.สผ.ที่ไปร่วมจัดแสดงนวัตกรรมในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
“แผนงานในปีนี้บริษัทฯ ยังเน้นโฟกัสงานรูปแบบการสร้างโปรเจกต์ของตัวเองขึ้นมา (OWN-PROJECT) โดยบริษัทฯ ได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) จัดงานเทศกาลเคานต์ดาวน์ที่สยามสแควร์ ภายใต้ชื่อ “Siam Square Countdown” ซึ่งปีนี้เตรียมจะจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีงาน OWN- PROJECT ที่อยู่ระหว่างศึกษาอีกหลายโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับงานอีเวนต์และธุรกิจความคิดสร้างสรรค์ ที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 755 ล้านบาท ที่จะมีการทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ และยังมีงานที่อยู่ระหว่างการประมูลอยู่หลายโครงการทั้งของภาครัฐ และเอกชน ทำให้ในปีนี้มีโอกาสกลับมาเติบโตตามเป้าที่ 1,200-1,500 ล้านบาท โดยคาดหวังปีนี้พลิกกลับมามีกำไร
สำหรับกรณีที่บริษัทฯ ได้นำส่งงบการเงินระหว่างกาล สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งผู้สอบบัญชีสอบทาน โดยไม่ให้ข้อสรุป ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีแนวทางนโยบายมาตรการในการรักษาระดับของกระแสเงินสดสำหรับการจ่ายชำระหนี้สินและใช้ในการดำเนินงานไว้อยู่แล้ว ขอให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นได้ว่า บริษัทฯ มีศักยภาพในการดำเนินงาน ขับเคลื่อนบริษัทฯ ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้