SGC เผยสินเชื่อ “SG Finance+” หนุนผลงานเข้าเป้ากว่า 30,000 สัญญา ยอดสินเชื่อรวมกว่า 280 ลบ. บอร์ดฯ ไฟเขียวเพิ่มทุนขาย RO พ่วงแจกวอแรนต์

“เอสจี แคปปิตอล (SGC)” เปิดแผนครึ่งปีแรก ชูสินเชื่อสมาร์ทโฟน “SG Finance+” เป็นเรือธงสำคัญในการโต ล่าสุด ประกาศเปิดตัวพันธมิตรใหม่ จับมือแบรนด์ Realme เข้ามาร่วมบุกตลาดสินเชื่อสมาร์ทโฟนในไทย Kick off 1 ก.ค. เป็นต้นไป หลังผนึก Oppo – Vivo – Xiaomi ตอบโจทย์ลูกค้าทั่วประเทศ หนุนสินเชื่อ SG Finance+ ในงวดครึ่งแรกปี 67 มียอดปล่อยแล้วกว่า 30,000 สัญญา ยอดสินเชื่อรวมกว่า 280 ล้านบาท พร้อมคุมเสี่ยง NPL อยู่ในระดับต่ำ ด้วยเทคโนโลยี Locked Phone มองครึ่งปีหลังไฮซีซั่นธุรกิจมือถือ พร้อมฟีเจอร์ AI หนุนความต้องการ SG Finance+ พุ่งต่อเนื่อง รวมทั้ง การขยายพาร์ทเนอร์ร้านค้าเพิ่มช่องทางการโต จึงมั่นใจ เดินหน้าเทิร์นอะราวด์ตามที่วางไว้ ด้านบอร์ด SGC ไฟเขียวแผนเพิ่มทุนขาย RO สัดส่วน 1:1 พ่วงแจกวอแรนต์เสริมแกร่งธุรกิจในอนาคต

นายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เปิดเผยว่า SGC เผยภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกเดินหน้าตามแผน SGC เข้าสู่ช่วงเทิร์นอะราวด์ และเป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ จากการมุ่งเน้นธุรกิจที่ให้ดอกเบี้ยรับสูงขึ้น การควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ การเรียกเก็บเงิน การควบคุมต้นทุน สะท้อนมาที่พอร์ตสินเชื่อใหม่เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยโฟกัสสินเชื่อ “เอสจี ไฟแนนซ์พลัส (SG Finance+)” ภายใต้แคมเปญ Locked Phone มองว่าจะเป็น Turning Point ของ SGC เนื่องจากแผนการปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบผ่านร้านมือถือชั้นนำทั่วประเทศ (Nationwide) ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากพาร์ทเนอร์แบรนด์มือถือ และดีลเลอร์ร้านค้าชั้นนำจำนวนมาก โดยในเดือนมิถุนายน SG Finance+ ปล่อยสินเชื่อได้กว่า 18,000 สัญญา และมียอดสินเชื่อรวมกว่า 168 ล้านบาท สนับสนุนครึ่งปีแรกปล่อยสินเชื่อได้กว่า 30,000 สัญญา และมียอดสินเชื่อรวมกว่า 280 ล้านบาท ผ่านร้านค้าพันธมิตรครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 2,900 แห่ง ซึ่งคาดการณ์จะเติบโตแตะ 5,000 แห่งภายในสิ้นปี 67

และไฮไลท์ในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ได้จับมือพันธมิตรแบรนด์มือถือชั้นนำเพิ่มเติม ในแบรนด์ Realme สนับสนุนให้ในเดือนกรกฎาคม 67 จะมีแบรนด์มือถือที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4 แบรนด์ ได้แก่ Oppo, Vivo, Xiaomi และ Realme ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยรวมกันประมาณ 55% เพิ่มโอกาสการเติบโตรับแนวโน้มครึ่งปีหลังมีดีมานด์จากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี AI เข้ามากระตุ้นกำลังซื้อ และความต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม สนับสนุนความต้องการสินเชื่อ SG Finance+ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดี ประเมินยอดปล่อยสินเชื่อจาก SG Finance+ คาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ภายใต้นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุม โดยพิจารณาความเสี่ยงทางด้านเครดิตของลูกค้า และวงเงินกู้ตามความสามารถในการผ่อนของลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของภาครัฐ โดยบริษัทมีแผนลดการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (C4C) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย EIR ต่ำ และมีการแข่งขันสูงกว่า อีกทั้งมีระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อประมาณ 4-5 ปี ส่วนสินเชื่อ SG Finance+ ที่นำเข้ามาบุกตลาดในปีนี้ มีอัตราดอกเบี้ย EIR สูงกว่า มีระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อเพียง 1-2 ปี สะท้อนรายได้ดอกเบี้ยรับมากกว่าเท่าตัว และเงินสดกลับเข้ามาที่บริษัทฯ เร็วขึ้น พร้อมกับการพิจารณาอนุมัติเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติดี จึงมองเป็นโอกาสในการเติบโต สนับสนุนเป้าหมายในปี 67 ผลงานจะพลิกกลับมาเป็นบวก ด้วยคุณภาพ NPL อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 5,232 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 3,270 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,502 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 5,232 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยจะเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) จำนวนหุ้นที่จัดสรร (หุ้น) 3,270 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยราคาเสนอขายจะเป็นราคาที่มีส่วนลดไม่เกิน 15% ของราคาตลาด ณ วันกำหนดราคาเสนอขาย

รวมทั้ง จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 654 ล้านหุ้น รองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครั้งที่ 1 (SGC-W1) ซึ่งจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (ก่อนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้) และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,308 ล้านหุ้น รองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครั้งที่ 2 (SGC-W2) ซึ่งจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน

ทั้งนี้ การออกและเสนอขาย SGC-W1 จำนวนไม่เกิน 654 ล้านหน่วย โดยไม่คิดมูลค่าการเสนอขาย ในอัตราส่วน 5 หุ้นสามัญเดิม (ไม่รวมหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่) ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ SGC-W1 กำหนดอัตราการใช้สิทธิของ SGC-W1 1 หน่วย ใบสำคัญแสดงสิทธิ ต่อ 1 หุ้นสามัญ มีอายุ 1 ปี โดยราคาใช้สิทธิแปลงสภาพจะเป็นราคาที่มีส่วนลด 10% ของราคาตลาด ณ วันกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ

อีกทั้ง การออกและเสนอขาย SGC-W2 จำนวนไม่เกิน 1,308 ล้านหน่วย โดยไม่คิดมูลค่าการเสนอขาย ในอัตราส่วน 2.5 หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จองซื้อและได้รับการจัดสรร ต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ กำหนดอัตราการใช้สิทธิของ SGC-W2 1 หน่วย ใบสำคัญแสดงสิทธิ ต่อ 1 หุ้นสามัญ มีอายุ 3 ปี โดยราคาใช้สิทธิแปลงสภาพจะเป็นราคาที่มีส่วนเพิ่ม 10% ของราคาตลาด ณ วันกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ

สำหรับวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนครั้งนี้ SGC มีแผนจะนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการและขยายธุรกิจในอนาคต และใช้ชำระหนี้ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และรองรับโอกาสการขยายธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็ดี สิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/67 กำหนดจัดในวันที่ 7 สิงหาคม 67 นี้ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *