หลักทรัพย์บัวหลวง ชี้ตลาดหุ้นไทย 4 เดือนสุดท้ายของปี 67 ยังผันผวนต่อเนื่อง ปรับลดเป้าหมายปลายปี 67 ลงมาที่ 1,396 จุด หลังส่งออกไทยยังเสี่ยงจากหลายประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ
พร้อมแนะลดความเสี่ยงจัดพอร์ตแบบตั้งรับ เน้นลงทุน “ตราสารหนี้” ระยะสั้นและยาวมากกว่าสินทรัพย์เสี่ยง ชูบริการ BLS Top Funds Portfolio ที่มีมืออาชีพคอยดูแลปรับพอร์ตอัตโนมัติ โชว์ผลตอบแทนสูงสุด 7.60% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 67 จนถึงปัจจุบัน (ตัวเลข ณ วันที่ 20 ส.ค. 67) สร้างผลงานรั้งท้ายตลาดหุ้นเอเชีย หากเปรียบเทียบผลตอบแทนบนสกุลเงินท้องถิ่น โดยให้ผลตอบแทน -6.1% เมื่อเทียบตลาดหุ้นในเอเชียที่มีผลตอบแทนสูงสองหลักขึ้นไป โดยตลาดหุ้นไต้หวันให้ผลตอบแทนสูงสุด +25%,ญี่ปุ่น +14% และเวียดนาม (ดัชนี VN30) +15% ขณะที่ตลาดหุ้นจีน -3.6%
“ตลาดหุ้นไทย Underperform ต่อเนื่อง 2 ปีติด โดยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 10-12% หลังกำไรบจ. ครึ่งปีแรกออกมาขยายตัวเพียง 3% (โตต่ำกว่าคาด) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดจะโต 14% ผลจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่เพิ่งออกมาเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลยังโฟกัสอยู่ที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหลัก ขณะที่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขทั้งเรื่องสินค้าราคาต่ำของจีนทะลักเข้าไทย ทำให้ธุรกิจ SME ของไทยมีปัญหา” นายชัยพร กล่าว
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทย ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 67 ทีมวิจัยหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับลดเป้าหมายปลายปีนี้ลงมาที่ระดับ 1,396 จุด จากเดิมที่คาดเป้าหมายปีนี้ที่ระดับ 1,466 จุด ซื้อขายบน Forward P/E 15.60 เท่าและคาดกำไรบจ.รวมเติบโต 7.5% แม้แนวโน้มกำไรบจ. ครึ่งปีหลังจะได้ประโยชน์จากท่องเที่ยวและส่งออกแต่กลุ่ม Domestic ยังคงต้องพึ่งพิง Demand ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้าเป็นหลัก เช่น ธุรกิจก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย, สื่อโฆษณา และการเงินเพื่อการบริโภค ที่ภาพรวมยังดูไม่ค่อยดี ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว
“เป้าหมายดัชนีปลายปี 67 เรายังไม่ได้รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งยังต้องติดตามข่าวการปรับเปลี่ยนการแจกเป็นเงินสด คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ เบื้องต้นมีมุมมองว่าการแจกเงินสดเป็นการเติมเงินเข้าระบบที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้ GDP เพิ่มขึ้นได้ 0.3% จากที่คาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ระดับ 2.6%
อย่างไรก็ดีเราหวังจะเห็นนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลออกมาเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ” นายชัยพร กล่าว
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามมีหลากหลายเรื่อง เช่น เรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจเข้มข้นขึ้นหากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งปลายปีนี้จะส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบด้านลบตามไปด้วย, เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลายประเทศเติบโตแบบชะลอตัว, เรื่องความมั่นคงทางการเมืองและการดำเนินนโยบายต่อเนื่องของภาครัฐ, เรื่องสงครามทั่วโลกที่ยังเป็นความเสี่ยง และเรื่องความท้าทายของการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการค้าขายสู่ระบบ AI
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ตอนนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยง แต่เราคาดว่ากนง. อาจลดดอกเบี้ยตามหลังสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 67 โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับดอกเบี้ยลดลง 0.75% รวม 3 ครั้ง หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงของการเติบโตแบบชะลอตัว และในปี 68 มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงต่อ ขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ค่อย ๆ สูงขึ้น
นายชัยพร กล่าวต่อว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนะนำจัดพอร์ตลงทุนแบบตั้งรับอย่างเต็มตัวเพื่อตั้งการ์ดรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหลายประเทศคู่ค้าของไทยที่เติบโตชะลอตัว รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและสินทรัพย์ต่าง ๆ เกิดความผันผวนได้ ล่าสุดทีมวิจัยหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงมาอยู่สัดส่วน 20% จากต้นปี 67 ที่อยู่ราว 60-80% และเพิ่มน้ำหนัก
การลงทุนตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วน 80% ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม แนะให้ลดน้ำหนักการลงทุนจาก 13% เป็น 9%, ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก 12% เป็น 6% ส่วนตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นแนะขายไปก่อนหน้ายังไม่ให้น้ำหนักลงทุน ขณะที่หุ้นไทยให้น้ำหนักการลงทุนสัดส่วนต่ำ 2% ของพอร์ตรวม
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุน แนะนำบริการจัดพอร์ตกองทุนรวมแบบอัตโนมัติ” (BLS Top Funds Portfolio) เครื่องมือช่วยสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้ผูกติดกับบลจ. ค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่จะเฟ้นหากองทุนที่ดีที่สุดของสินทรัพย์เป้าหมาย โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมืออาชีพคอยดูแลจัดพอร์ตตามมุมมองและคัดเลือกกองทุนตัวท็อปให้อัตโนมัติ ปัจจุบันมีให้เลือกลงทุนทั้งหมด 3 ประเภท 6 พอร์ตการลงทุน
โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนสูงสุด 7.60% สำหรับพอร์ตความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับ SET ที่ -4.72% (ตัวเลข ณ 29 ส.ค. 67) ทั้งนี้นักลงทุนที่สนใจสร้างโอกาสรับผลตอบแทนอย่างยั่งยืนสามารถสมัครบริการ BLS Top Funds Portfolio ได้ที่แอป Wealth CONNEX