บอร์ด ACC ไฟเขียวเข้าลงทุน “RTS” ให้บริการออกแบบและติดตั้งด้านไอที และโครงข่ายโทรคมนาคมแบบครบวงจร โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
พร้อมออกหุ้นเพิ่มทุน 264 ล้านบาท จัดสรรแบบ PP ไม่เกิน 440 ล้านหุ้น หวังเสริมความแข็งแกร่งหนุนฐานเงินทุน สร้างความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต
นายอิทธิ พงศ์อุสรา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ACC เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบการเข้าทำรายการได้มาซี่งสินทรัพย์โดยการซื้อหุ้นสามัญในบริษัท อาร์ ที เอส (2003) จำกัด (RTS) จาก 1) นายณชพล สองทิศ จำนวน 1,060,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 24.09 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS 2) นางสาวธีรานันท์ สองทิศ จำนวน 1,060,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 24.09 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS 3) นางสาวจิตรา สองทิศ จำนวน 520,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 11.82 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS รวมจำนวนหุ้นที่ซื้อทั้งสิ้น 2,640,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 ในราคาซื้อขาย (ราคาพาร์) หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.00 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS ด้วยมูลค่าการเข้าทำรายการรวมเท่ากับ 264,000,000 บาท (สองร้อยหกสิบสี่ล้านบาทถ้วน)
ส่วนการชำระค่าหุ้น RTS บริษัท ฯ จะชำระด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของบริษัทในลักษณะการเสนอขาย แบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ผู้ขายแทนการชำระด้วยเงินสดคิดเป็นมูลค่ารวม 264,000,000 บาท (สองร้อยหกสิบสี่ล้านบาทถ้วน) ในราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนหุ้นละ 0.60 บาท โดยบริษัท ฯ จะจัดสรรหุ้นสามัญ เพิ่มทุนเพื่อชำระค่าตอบแทนการซื้อหุ้นสามัญของ RTS นี้จำนวนไม่เกิน 440,000,000 หุ้น โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นของ RTS ที่ราคาพาร์หรือราคาหุ้นละ 100 บาทต่อหุ้น ต่อ 166.6667 หุ้นใหม่ของบริษัทที่ราคาพาร์หุ้นละ 0.25 บาทต่อหุ้น (เศษของหุ้นให้ปัดทิ้ง)
ในการจัดสรรหุ้นดังกล่าว แบ่งเป็น
1) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน ไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวจำนวนไม่เกิน 176,666,667 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ นายณชพล สองทิศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.92 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท (ภายหลังการจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วของบริษัทหลังจากการออกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้) เพื่อชำระค่าตอบแทนการซื้อหุ้นสามัญของ RTS จำนวน 1,060,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 24.09 ของจำนวนหุ้น
ทั้งหมดของ RTS
2) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่ว่าคราวเดียว หรือหลายคราวจำนวนไม่เกิน 176,666,667 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ นางสาวธีรานันท์ สองทิศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.92 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท (ภายหลังการจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วของบริษัทหลังจากการออกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้) เพื่อชำระค่าตอบแทนการซื้อหุ้นสามัญของ RTS จำนวน 1,060,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 24.09 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS และ
3) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวจำนวนไม่เกิน 86,666,666 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ นางสาวจิตรา สองทิศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.89 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท (ภายหลังการจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วของบริษัท หลังจากการออกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้) เพื่อชำระค่าตอบแทนการซื้อหุ้นสามัญของ RTS จำนวน 520,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 11.82 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS และภายหลังการทำธุรกรรมดังกล่าว บริษัท ฯ จะถือหุ้นใน RTS ในสัดส่วนร้อยละ 60 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ RTS
“การกำหนดมูลค่าสิ่งตอบแทนเป็นการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอ้างอิงการประเมินด้วยวิธีการหามูลค่ายุติธรรมตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow Approach) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ซึ่งได้คำนึงถึงศักยภาพและความสามารถในการทำกำไรของกิจการในอนาคตโดยมูลค่ายุติธรรมของ RTS จากการประเมินมูลค่าประมาณ 434.50 – 479.05 ล้านบาท สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้นร้อยละ 100 หรือราคาหุ้นละ 98.75-108.88 บาทต่อหุ้น ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงิน ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ และเมื่อพิจารณารายการปรับปรุงรายการหลังวันที่ในงบการเงินจากการที่ RTS ได้มีการเพิ่มทุนจำนวน 340,000,000 บาท (สามร้อยสี่สิบล้านบาทถ้วน) ที่ราคาพาร์ 100 บาท ต่อหุ้น เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 RTS จะมีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 409.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าตามบัญชี (Book Value) เท่ากับ 93.04 บาท ต่อหุ้น” นายอิทธิ ฯ กล่าว
นายอิทธิ ฯ กล่าวต่อไปว่าคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 221,921,301.75 บาท (สองร้อยยี่สิบเอ็ดล้านเก้าแสนสองหมื่นหนึ่งพันสามร้อยหนึ่งบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์) จากทุนจดทะเบียนเดิม จำนวน 447,685,207.75 บาท (สี่ร้อยสี่สิบเจ็ดล้านหกแสนแปดหมื่นห้าพันสองร้อยเจ็ดบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์) เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 669,606,509.50 บาท (หกร้อยหกสิบเก้าล้านหกแสนหกพันห้าร้อยเก้าบาทห้าสิบสตางค์) โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 887,685,207 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท
1) เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้นโดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัท ฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering: PPO) จำนวนไม่เกิน 447,685,207 หุ้น
2) เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวนไม่เกิน 440,000,000 หุ้น
พร้อมทั้งเห็นชอบให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวนไม่เกิน 447,685,207 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราส่วนการจัดสรร
3) หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 268,611,124.20 บาท (สองร้อยหกสิบแปดล้านหกแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยยี่สิบสี่บาทยี่สิบสตางค์) อย่างไรก็ตาม ACC เพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทและเสนอขาย PP โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินที่ได้รับในครั้งนี้เป็นทุนหมุนเวียนและเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทหรือบริษัทย่อย ซึ่งจะช่วยเสริมให้ภาพรวมกลุ่มบริษัทมีฐานเงินทุนที่ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความพร้อมสำหรับการดำเนินงานในอนาคตและจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อไป สร้างความเชื่อมั่นและผลตอบ แทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
อนึ่ง RTS ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบและติดตั้งด้านไอที และโครงข่ายโทรคมนาคมแบบครบวงจร โดยให้บริการออกแบบจัดหาพัฒนาและติดตั้งรวมถึงการดำเนินการดูแลเกี่ยวกับระบบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจด้านเทคโนโลยีและด้านโทรคมนาคม โดยธุรกิจถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ประกอบด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีโทรคมนาคม ที่มุ่งเน้นให้บริการแก่ลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ซึ่ง RTS จะให้บริการและสนับสนุนลูกค้าในการพัฒนาและบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมที่เหมาะสมกับความต้องการและความสำเร็จของธุรกิจของลูกค้า ในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับลูกค้า เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ที่สูงสุดจากเทคโนโลยีและการพัฒนาธุรกิจในยุคดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน