PwC เผยกระแสการเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงานส่งผลให้ความพึงพอใจต่องานของลูกจ้างลดลงแรงงานไทย 64%

PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจล่าสุดพบแรงงานไทยมีความพึงพอใจต่อสถานที่ทำงานของตนลดลงในปีนี้หลังเผชิญแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกจ้างมากกว่าครึ่งชี้ว่าโอกาสในการเรียนรู้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอยู่หรือลาออกจากงานในอนาคต

รายงานผลสำรวจความหวังและความกังวลของกำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2567 ฉบับประเทศไทย ของ PwC ระบุว่า 65% ของกำลังแรงงานชาวไทยที่ถูกสำรวจจากจำนวนทั้งหมด 1,000 คน แสดงความพึงพอใจต่องานที่พวกเขาทำอยู่ในปีนี้ หรือลดลง 14% จากการสำรวจปีก่อนที่ 79% ขณะที่ 45% ต้องการขอเพิ่มเงินเดือน 35% ต้องการเลื่อนตำแหน่ง และ 28% ต้องการที่จะเปลี่ยนนายจ้าง

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันซึ่งส่งผลให้แรงงานรู้สึกทั้งตื่นเต้นและกังวล โดย 79% กล่าวว่าตนเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานในปีที่ผ่านมาสูงกว่าเมื่อช่วง 12 เดือนก่อนหน้า เปรียบเทียบกับแรงงานในเอเชียแปซิฟิกที่ 68% และ 60% ยอมรับว่าภาระงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ จะช่วยให้แรงงานมีความมั่นใจต่อความสามารถในการทำงานของตนมากขึ้นและคลายความกังวลต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่

“ในปัจจุบันมีหลาย ๆ งานหรือหลาย ๆ กิจกรรมที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทำแทนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ งานประเภท tracking หรืองาน data entry และ processing ซึ่งหากแรงงานมีการอัปสกิลตัวเอง ก็ไม่ต้องกังวลว่างานของตนจะถูกแทนที่หรือไม่” ดร. ภิรตา กล่าว

ทั้งนี้ ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) และระบบออโตเมชัน ถือเป็นทักษะที่สำคัญอันดับต้น ๆ ที่ควรพัฒนา รวมไปถึงทักษะทางด้านอารมณ์ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการปรับตัว เธอ กล่าว

แรงงานไทยมากกว่า 70% นำ AI มาใช้ในการทำงานสูงขึ้น
ผลจากการสำรวจยังพบว่า แรงงานชาวไทย 73% กล่าวว่าตนใช้ GenAI ในการทำงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 70% ขณะที่ 17% ใช้ GenAI เป็นประจำทุกวัน นำโดยแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและยานยนต์ (18%) ตามมาด้วยธุรกิจบริการทางการเงิน (16%) และตลาดผู้บริโภค (15%) ตามลำดับ

นอกจากนี้ พนักงานไทยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการใช้งาน GenAI โดย 75% คาดว่า GenAI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งสูงกว่าการสำรวจของปีที่แล้วที่ 47% ขณะที่ 67% เชื่อว่า GenAI จะเพิ่มความมั่นคงในการทำงาน และช่วยให้พวกเขาได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น (65%) แต่นั่นก็อาจทำให้ปริมาณงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (66%)

ทั้งนี้ แรงงานไทยมากถึง 90% ยังรู้สึกพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับวิธีการทำงานใหม่และเติบโตในหน้าที่การงานของตน ขณะที่ 56% กล่าวว่าโอกาสในการเรียนรู้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอยู่หรือลาออกจากงาน

“คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับ opportunity to learn มากขึ้นและยังส่งผลต่อการเติบโตขององค์กรในท้ายที่สุดด้วย ดังนั้น นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่นายจ้างจะต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับพนักงานโดยเน้นไปที่การพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและ self-learning และต้องอย่าลืมที่จะปลูกฝังเรื่อง soft skill ไปพร้อม ๆ กันโดยควรกำหนดตัวชี้วัดเพื่อติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลควบคู่ไปด้วย” ดร. ภิรตา กล่าว

นอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่า แรงงานชาวไทยหันมาให้ความสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดย 60% แสดงความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และ 42% กล่าวว่าการหยุดชะงักจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานของพวกเขา

“สิ่งหนึ่งที่ทั้งผู้นำองค์กรและพนักงานคงเห็นไม่แตกต่างกันในวันนี้ คือ change is constant ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น และอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการพลิกโฉมรูปแบบการทำงาน และส่งผลต่อความคาดหวังและความกังวลของพนักงานที่มีต่อองค์กร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการ evolve ตัวเองทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลให้ไม่ใช่เพียงแค่อยู่รอด แต่เติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ดร. ภิรตา กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *