“สมพล ธนาดำรงศักดิ์” บิ๊กบอส บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) มั่นใจรายได้ปี 67 ทะยานแตะ 2.6 พันล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามนัด! อานิสงส์ยอดขาย 2 บริษัทย่อยในแดนภารตะพุ่ง ตุน Backlog แน่นกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากประเทศอินเดีย เผย 9 เดือนกวาดรายได้ 1,903.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% กำไรสุทธิ 167.1 ล้านบาท มั่นใจไตรมาส 4 /67 สดใส เดินหน้ากลยุทธ์เพิ่มกำลังการผลิต-ขยายฐานลูกค้าใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ อัพยอดขาย
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในงวด 9 เดือนปี 2567 มีรายได้รวม 1,903.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.1 ล้านบาท หรือ 4.6% และมีกำไรสุทธิ 167.1 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดดำเนินการของบริษัทย่อยในประเทศไทย ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและขยายฐานลูกค้า
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 7.3 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 112.9 ล้านบาท เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หากไม่นับขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 171.1 ล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมืออนุพันธ์จำนวน 66 ล้านบาท บริษัทฯจะมีกำไรประมาณ 112.4 ล้านบาท อีกทั้งยังคงมั่นใจในศักยภาพการเติบโตในระยะยาว และกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และขยายสู่ตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการดำเนินงานของ 2 บริษัทย่อยในประเทศอินเดีย ในไตรมาส 3/2567 บริษัท เอฟพีไอ ออโต้ พาร์ท อินเดีย มียอดขายสูงถึง 116 ล้านรูปี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คาดการณ์รายได้ตลอดทั้งปีจะแตะระดับ 600 ล้านรูปี
ส่วนบริษัท อาร์บีเอส พลาสติก อินโนเวชั่น จำกัด ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดการภายในทั้งหมด รวมถึงระบบ ERP ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ส่งผลให้ยอดขายในเดือนกรกฎาคมแทบเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถฟื้นตัวและทำยอดขายได้รวม 24.9 ล้านบาทในไตรมาสนี้ แม้ว่าจะยังขาดทุนสุทธิ 2.96 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบที่สูง
สำหรับแผนการในอนาคต บริษัทตั้งเป้ายอดขายครึ่งปีหลังของปี 2567 ที่ 60 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายทั้งปี 2568 ที่ 200 ล้านบาท โดยเชื่อมั่นว่าการปรับปรุงระบบครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการ ส่งผลให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“แนวโน้มผลงานในไตรมาส 4 คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะธุรกิจอินเดียมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น และบริษัทฯจะมียอดขายจากย่อยที่เปิดใหม่เข้ามาสนับสนุน ทำให้มั่นใจว่าแนวโน้มรายได้ปี 2567 จะแตะที่ระดับ 2,600 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปัจจุบันมีออเดอร์สินค้าในมือ (Backlog) ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นออเดอร์อินเดีย ส่วนที่เหลือเป็นออเดอร์ในไทย” นายสมพล กล่าวในที่สุด